เร็วๆมานี้ในการประชุมใหญ่ของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียที่ฮ่องกง เมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้วได้มีการถกกันถึงประเด็นการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพรายการใหญ่อย่างเอเชี่ยนคัพในอีก 7 ปีข้างหน้า โดยหนนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรเปิดให้มีการยื่นซองกันเสียแต่เนิ่นๆ เพราะรายการดังกล่าวมีสเกลที่ใหญ่มาก อีกทั้งจากการเตรียมความพร้อมในรายการที่ผ่านๆมาทั้งการเป็นเจ้าภาพบอลโลกของกาตาร์และการเป็นเจ้าภาพของจีนในเอเชี่ยนคัพ 2023 ต่างก็มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในการสร้างและปรับปรุงสนาม (กาตาร์ประสบปัญหาด้านแรงงานที่เรื่องของสิทธิมนุษยชนถูกยกเป็นประเด็นสำคัญ ในขณะที่จีนเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แผนงานในหลายมณฑลมีอันต้องหยุดชะงัก) ดังนั้นเพื่อให้ชาติเจ้าภาพมีความพร้อมมากที่สุด เอเอฟซี จึงมีมติให้การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในเอเชี่ยนคัพในอีก 7 ปีข้างหน้าจะทำกันตั้งแต่เนิ่นๆ และขยายเวลายื่นซองออกไปได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.
แอดไลน์ @Bankeela รับลิ้งดูบอล ทีเด็ด วิเคราะห์บอลจากทางบ้านกีฬา
จุดที่สำคัญคือในเวลานี้มีเพียงซาอุดีอาระเบียชาติเดียวเท่านั้นที่แจ้งความจำนงมาแล้วอย่างเป็นทางการ และมีข่าวออกมาจากหลายสำนักว่าอินเดียเองก็แสดงความสนใจเช่นกัน เพราะหากได้รับเลือกนี่จะเป็นเอเชี่ยนคัพครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ในบ้านของพวกเขา
เราทุกคนต่างรู้กันดีว่าการจัดรายการฟุตบอลใหญ่ระดับนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องของเงินๆทองๆที่ต้องมีการวิเคราะห์กันให้ดีชนิด “ต้องละเอียดทุกเม็ด” เรื่องของชื่อเสียง-หน้าตาในสายตานานาประเทศก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญและต้องมีการบวกลบคูณหารกันให้ดีเลยแหละ (หากจัดออกมาดีไม่เพียงแต่จะได้รับการชื่นชมแต่ยังเหมือนเป็นการฉายสปอร์ตไลท์ให้ตัวเองต่อสายตาประชาคมโลก แต่ในทางกลับกันถ้าทำออกมาแย่ก็ไม่ต่างจากการเอาตัวเองไปประจานบนเวทีที่มีผู้ชมมากกว่าสองพันห้าร้อยล้านคนเช่นกัน)
คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วพี่ไทยล่ะมองเรื่องนี้อย่างไร? จะดีมั้ยถ้าเราจะขอแจมกับเขาบ้าง?
แต่ก่อนที่จะไปตอบคำถามนี้บางทีเราอาจต้องลองพิจารณา 2 ชาติที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพกันดูก่อน พวกเขาเหล่านั้นมีความพร้อมมากแค่ไหน? และกำลังคิดอะไรอยู่กันแน่?
ซาอุดีอาระเบียถือเป็นชาติที่ค่อนข้างจะมีความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งด้านเงินทุน, ระบบสาธารณูปโภค และประสบการณ์การจัดการแข่งขัน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรายการอย่างอิตาเลียน ซุปเปอร์คัพ, สแปนิช ซุปเปอร์คัพ หรือแม้แต่รายการแข่งขันในกีฬาประเภทอื่นอย่างดาการ์ แรลลี่, กอล์ฟ ยูโรเปี้ยนทัวร์ และเดอะ ซาอุดีอาระเบีย คัพ สำหรับกีฬาแข่งม้า ทั้งหมดที่ว่ามาก็ล้วนจัดขึ้นที่นี่
เหตุผลหลักๆในการตัดสินใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพของซาอุฯหนนี้มีการเปิดเผยออกมาจากแหล่งข่าวท้องถิ่นของพวกเขาเองว่า “มันคือบันไดไปสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างเวิร์ลคัพ” เพราะการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนคัพ 2027 หนนี้คือการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะขอเป็นเจ้าภาพบอลโลกในอีก 14 ปีข้างหน้า (เวิร์ลคัพปี 2034 ที่บรรดาชาติในอาเซียนจะขอเป็นเจ้าภาพร่วม ปีเดียวกันนั่นแหละ)
ทีนี้มามองอินเดียชาติที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกกันดูบ้าง
หากจะเปรียบเทียบด้านความพร้อมในตัวเงินและประสบการณ์การจัดการแข่งขันรายการใหญ่ๆ อินเดียอาจดูด้อยกว่าซาอุดีอาระเบียอยู่พอสมควร แต่จะว่าไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาก็ได้รับความไว้วางใจจากทั้งเอเอฟซีและฟีฟ่ามาอย่างต่อเนื่องนะ อย่าลืมว่าทั้งฟุตบอลโลก 2017 ในรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และฟุตบอลโลก 2020 ในรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปีสำหรับทีมหญิง อินเดียเองก็ได้เป็นเจ้าภาพทั้งสองรายการ
ผมคิดว่าสิ่งที่ชาวอินเดียกำลังมองน่าจะเป็นเรื่องของ “แพชชั่นและการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์” เพราะหากพวกเขาได้รับเลือกนี่ก็จะเป็นครั้งแรกของพวกเขาในการนำเอเชี่ยนคัพมาเตะกันถึงหน้าบ้าน ถือเป็นการต่อยอดการขยายตัวในกระแสความสนใจฟุตบอลของประชากรภายในประเทศที่มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งอัตราการตื่นตัวในฟุตบอลที่อินเดียในเวลานี้ไม่แพ้คริกเก็ตที่ถือเป็นกีฬาขวัญใจมหาชนของพวกเขาเลยนะ)
แล้วเราล่ะ…เอเชี่ยนคัพที่ไทย เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนล่ะ?
“ยากอยู่แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้” เพราะเราเองก็เคยแสดงความจำนงขอจัดรายการที่ว่านี้มาแล้วเหมือนกัน (ก่อนจะขอยกเลิกในภายหลัง) แถมจากการเปิดเผยของเอเอฟซี ในรายการล่าสุดอย่างชิงแชมป์ทวีปรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีที่จัดขึ้นที่ไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราเองก็ได้รับทั้งคำชมและการยอมรับ
“สปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์” ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดกันมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แม้แต่ผู้ว่า กกท.เองก็ยังเคยออกมายอมรับว่า เจ้านี่คือ 1 ใน 12 แผนงานที่ กกท.จะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะการเป็นเจ้าภาพรายการระดับนานาชาติถือเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวควบคู่กับการกระจายรายได้สู่ชุมชน (มีการลงทุนและมีเงินหมุนเวียนสะพัดในระบบทั้งก่อน, ระหว่าง และหลังจัดการแข่งขัน)
เพียงแต่ไทยไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเท่าซาอุฯ และแพชชั่นก็ไม่ได้มีมากเท่าอินเดียเมื่อเปรียบเทียบกันด้านปริมาณ (หากมองในมุมของโอกาสในการทำเงินจากค่าโฆษณา, ค่าสปอนเซอร์และกิจกรรมทางการตลาด อินเดียก็จัดอยู่ในเกณฑ์ที่เตะตาเอเอฟซีมากกว่า)
แถมถ้าจะว่ากันในด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ (เมื่อเปรียบเทียบกัน) มันก็ยังเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะจริงอยู่ที่เอเชี่ยนคัพจะนำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลแต่ก็ต้องแลกมาด้วยการลงทุนที่มากไม่แพ้กัน มันจึงเป็นความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล
ทั้งซาอุฯและอินเดียต่างเห็นตรงกันว่านี่คือ “โอกาส” แล้วเราล่ะมองกันแบบไหน? คือ “ความท้าทาย” หรือแค่ “เรื่องไกลตัว” ที่เป็นไปไม่ได้ ?
บทความจาก https://stadiumth.com/